วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การวัดและประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

........การวัดและประเมินกลุ่มสาระการเรียนรู้
........ในการประเมินผลการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสาระขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังนี้
........1. การประเมินผลก่อนเรียน เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนแต่ละวิชา และแต่ละกลุ่มสาระที่ต้องประเมินโดยมีจุดมั่งหมายเพื่อจัดทำข้อมูลของตัวเด็กแต่ละคนในเบื้องต้น ว่าเด็กแต่ละปีมีสภาพส่วนใหญ่อย่างไร และนำข้อมูลนี้ไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพผู้เรียนตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
........2. ดำเนินการประเมินระหว่างเรียนซึ่งการประเมินระหว่างเรียน เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียนว่า มีการเปลี่ยนแปลงบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ในการสอนตามแผนการสอน แต่ละแผนที่ผู้สอนวางไว้หรือไม่ และการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นจากสภาพเดิมที่ทดสอบไว้มากน้อยแค่ไหน ข้อมูลที่ได้จากการประเมิน เป็นการนำไปปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียน และส่งเสริมผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถให้เกิดพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ ข้อมูลการประเมินระหว่างเรียน จึงใช้ทั้งแก้ไขซ่อมเสริมความบกพร่องของเด็กบางคน ขณะเดียวกันก็นำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมแบบสอนเสริมให้กับเด็กที่เก่ง ได้เกิดพัฒนาเต็มศักยภาพ
........3. เป็นการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนซึ่งการประเมินเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ครั้งสุดท้ายนี้ เพื่อมุ่งตรวจสอบความสำเร็จของผู้เรียนทั้งรายบุคคลและอิงกลุ่ม ว่าในกลุ่ม ในชั้นนั้น เมื่อผ่านการเรียนรู้ในช่วงเวลาหนึ่งแล้วนักเรียนส่วนใหญ่ ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะต่อไปนี้เป็นการประเมินสะสมพัฒนาการ จะทำระหว่างภาคระหว่างปีก็ได้ เพื่อนำผลไปประเมินรวบยอดอีกครั้งหนึ่งตัดสินเป็นผลสุดท้ายเมื่อจบช่วงชั้นสำหรับเด็ก ม.ต้นที่จัดเป็นรายนั้น
........ในการตัดสินผลการเรียนนั้นให้นำคะแนนที่ได้มากสุดของแต่ละครั้งที่ได้รับการประเมินผลมารวมกันและมาเปลี่ยนเป็นระดับผลการเรียนการประเมินโดยใช้สัญลักษณ์อาจจะให้ระดับคุณภาพผลการเรียน
...............4 หมายถึง ระดับดีมาก
...............3 หมายถึง ระดับดี
...............2 หมายถึง ระดับพอใช้
...............1 หมายถึง ระดับผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
...............0 หมายถึง ระดับผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์เหล่านี้เป็นการตัดสินรวมทั้งหมด
........การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
........การประเมินกิจกรรม พัฒนาผู้เรียนนั้นจะต้องเป็นการประเมินกิจกรรมประจำภาคเรียนมีวิธีการคือ
1. ผู้ที่รับผิดชอบกิจกรรม อาจจะคอยประเมินผลการปฏิบัติของผู้เรียนแต่ละคนตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกิจกรรมโดยดูจากพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมการลงมือดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนด และดูผลสุดท้ายว่าเมื่อเด็กทำกิจกรรมนั้นแล้วได้ผลงานออกมามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย ตามสภาพจริง ดูทั้งความประพฤติ การมีส่วนร่วม ดูทั้งการประยุกต์ใช้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นๆรวมถึงผลงานสุดท้ายที่เด็กได้ว่าเป็นคุณภาพอย่างไรอาจจะทำเป็นรูป Rubric เขียนเป็นเกณฑ์คุณภาพออกมา
2. ผู้ที่รับผิดชอบกิจกรรมจะต้องคอยตรวจสอบในเรื่องการใช้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียนว่าเป็นไปตามเกณฑ์ ที่สถานศึกษากำหนดหรือไม่ เพราะในเรื่องเกณฑ์การเข้าร่วมกิจกรรมของเด็กนี้เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ และเด็กได้ใช้เวลาตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ ให้เป็นประโยชน์ตามความสนใจ ตามความถนัด
3. เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้ไปในระยะหนึ่งแล้ว ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรกิจกรรมต้องจัดให้มีการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมผู้เรียน เพื่อสรุปความก้าวหน้าในสภาพของการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน ในแต่ละระยะเพราะถ้าหากไม่ประเมินเป็นระยะๆจะมองไม่เห็นเลยว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัด ความสนใจ และแสดงความก้าวหน้าของตนเองมากน้อยเพียงใด ถ้าหากมีเด็กบางคน ไม่มีส่วนร่วม ไม่รับผิดชอบหรือผลงานไม่ก้าวหน้าเราจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือส่งเสริมกระตุ้นให้เด็ก ปฏิบัติกิจกรรมให้ถูกต้องตามที่กำหนดหรือปรับปรุงผลงาน ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ในส่วนนี้เมื่อเสร็จแล้วให้รายงานผลการประเมินให้ผู้ปกครองทราบทุกกิจกรรมโดยทำการประเมินตามจุดประสงค์ที่สำคัญของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่เด็กเข้าร่วม และนำผลการประเมินนั้น ไปรวมกับการประเมินการร่วมกิจกรรม ในช่วงปลายภาคอีกครั้งหนึ่งเพื่อตัดสินผลการร่วมกิจกรรมเมื่อสิ้นสุดการศึกษา ทั้งนี้ให้ทำทุกภาคเรียน และสรุปในช่วงปลายปีตลอด อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูความก้าวหน้าเด็ก
........จากวิธีการทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นวิธีการประเมินกิจกรรมผู้เรียน ประจำภาคเรียนและสะสมผลไว้ ในขั้นต่อไปจะเป็นการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อตัดสินผ่านช่วงชั้น คือเมื่อผู้เรียน เรียน 3 ปีหรือ 6 ภาคเรียนแล้วจะต้องมีการประเมินเพื่อสรุปผลการผ่านกิจกรรมตลอดช่วงชั้น ของผู้เรียน แต่ละคน เป็นการนำผลไปพิจารณาตัดสินว่าสมควรให้เด็กผ่านช่วงชั้นนั้นๆหรือไม่ ในขั้นนี้ขอแนะนำให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
..........1. กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
..........2. ผู้รับผิดชอบกลุ่มเด็กหรือเด็กแต่ละคนนั้นเป็นคนที่สรุปและประเมินผลการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
..........3. นำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของโรงเรียนให้ความเห็นชอบ จากนั้นจึงดำเนินการเสนอผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาอนุมัติให้เด็กแต่ละคนจบช่วงชั้นหรือเลื่อนผ่านช่วงชั้นต่อไป
........ในส่วนของกิจกรรมจึงต้องประเมินเป็น 2 ระยะ คือ ประเมินเป็นรายภาค สะสมผลไว้และนำมาประเมินอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดช่วงชั้น ที่จะต้องทำอย่างเป็นระบบและมีข้อมูล หากนักเรียนจะเก็บหลักฐานผลงานที่ดีเด่นไว้ประกอบด้วย ก็จะเป็นการดีในแง่ที่มีผลงานตัวอย่าง
........การประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์
........โดยแนวคิดแล้วเนื่องจาก พรบ.การศึกษา กำหนดว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ต้องการสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุข ซึ่ง 8 สาระกับ 1 กิจกรรม อาจจะเป็นตัวหลักสูตรสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเด็กแต่ละคนได้ แต่ในเรื่องของความดี คือมุ่งตรงไปที่ด้าน ความประพฤติคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามที่สถานศึกษากำหนดขึ้นมา จะด้วยเป็นนโยบาย เป้าหมายพัฒนาหรือมีการสำรวจความต้องการของผู้ปกครองท้องถิ่นประกอบด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องกำหนดขึ้น สำหรับพัฒนาผู้เรียนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ปัญหา หรือเป็นการสร้างเอกลักษณ์เกี่ยวกับ คุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามที่สถานศึกษาและชุมชนนั้นๆต้องการ โดยเป็นการประเมินเชิงวินิจฉัย วินิจฉัยพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พึงประสงค์หรือไม่ และก็ใช้เป็นส่วนหนึ่ง ประกอบหลักฐานในการจบช่วงชั้นซึ่งมีวิธีการดำเนินงานคือ
........1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสถานศึกษาขึ้นโดยอาจประกอบไปด้วย ผู้แทนครู ผู้ปกครองและชุมชน โดยกรรมการจะทำหน้าที่กำหนดแนวทางการพัฒนา การประเมิน และกำหนดเกณฑ์การประเมินรวมถึงแนวทางการปรับปรุงซ่อมเสริมผู้เรียนที่ยังมีคุณลักษณะบกพร่องหรือยังไม่อยู่ในเกณฑ์
........2. คณะกรรมการพัฒนา และประเมินคุณลักษณะนี้เป็นผู้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความจำเป็น หรือสอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา และชุมชนซึ่งอาจเป็นคุณลักษณะที่กำหนดขึ้นอิสระ หรือเป็นลักษณะที่ซ้ำซ้อนกับมาตรฐาน 8 สาระ 8 กลุ่มวิชาก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดเน้น

........จากนั้น คณะกรรมการที่กำหนด กิจกรรมพัฒนานี้อาจจะมี 2.ลักษณะคือ
........1. กิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะในห้องเรียน ในชั้นเรียน โดยมอบหมายให้ผู้สอนเป็นผู้สังเกต ประเมินผล แก้ไข ปรับปรุง ในระหว่างการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ และทำข้อมูลบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
........2. เป็นการสังเกตประเมินจากกิจกรรม นอกห้องเรียน โดยให้บุคลากรของสถานศึกษา หรือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่กำหนดขึ้นเป็นผู้ร่วมสังเกต และประเมินผล หรือ แก้ไขปรับปรุงผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ทั้งภายนอกห้องเรียน หรือภายนอกสถานศึกษา ทั้งนี้อาจจะรวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในและนอกสถานที่ ตามระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียนนั่นเอง
........ผู้สอนหรือคนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านพฤติกรรมที่พึงประสงค์นี้ ควรใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อให้เห็นว่า เป็นการประเมินที่เที่ยงตรง ไม่ได้ใช้ความรู้สึก เช่นใช้การสังเกตพฤติกรรมจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียน ดูความเสมอต้นเสมอปลายอาจใช้การสัมภาษณ์การบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือให้เด็กจัดทำรายงานตนเองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพโรงเรียนสภาพชุมชนท้องถิ่น หรือนิสัยเด็กแต่ละคน จากนั้นผู้รับผิดชอบรวบรวมข้อมูลการประเมินทั้งหมด จากหลายฝ่าย เช่นจากผู้สอนผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้อง แล้วจึงสรุปให้กรรมการสถานศึกษาประกอบการพิจารณาตัดสินผลการประเมินคุณลักษณะแต่ละประการตามที่กำหนดไว้โดยโรงเรียน
........ในกรณีที่ผู้เรียนได้รับผลการประเมินดีหรือดีเยี่ยม ควรให้ทำการบันทึกข้อมูลการประเมินเพื่อรายงานและส่งต่อผู้ปกครอง หรือส่งต่อช่วงชั้นที่เด็กจะเลื่อนขึ้นไป แต่ในกรณีที่ผู้เรียนได้รับผลการประเมินว่าควรปรับปรุง ควรแจ้งให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง ทราบเสียก่อน และต้องจัดกิจกรรมซ่อมเสริมนิสัย ให้เด็กแก้ไขนิสัยตามแนวทางการปรับปรุงที่คณะกรรมการกำหนด แล้วจึงค่อยประเมินผลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งควรจะทำอย่างรอบคอบ และไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกเกร็ง ควรจะดูตามสภาพจริงของเด็กแต่ละคน เพราะไม่ได้มีคะแนน เป็นแค่ส่วนประกอบ ในการที่จะใช้ประกอบการประเมินผลว่า เด็กที่เก่งบางครั้งอาจจะมีพฤติกรรม ที่ไม่สมบูรณ์ก็ได้ เพราะเราอยากได้ทั้งเด็กเก่งและเด็กที่มีความประพฤติดี
........ผลการประเมินพฤติกรรมอันพึงประสงค์อาจจะใช้เกณฑ์ในการประเมินเป็น
........ดีเยี่ยม หมายถึง มีพฤติกรรมสูงกว่ากำหนด
........ดี หมายถึง มีพฤติกรรมเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด
........ปรับปรุง หมายถึง มีพฤติกรรมบางข้อต้องปรับปรุง

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประโยชน์ของการติดตามและประเมินผล

1. ทำให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริง สามารถจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและแก้ไขทันที เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขององค์กร
2. ทำให้การวางแผนงาน/โครงการได้ตรงเป้าหมาย แก้ปัญหาได้ถูกจุด และพัฒนาได้ตรงตามนโยบาย
3. ทำให้ดำเนินการตามแผนงานได้อย่างราบรื่น สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างได้ผล หรือปรับแผนให้เหมาะสมมากขึ้น
4. ทำให้ทราบผลการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการอย่างชัดเจน อันจะเป็นข้อมูลไปสู่การตัดสินใจไปสู่สภาพปัจจุบันปัญหาความต้องการ
.........ถ้ามีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ ย่อมทำให้ทราบปัญหาและความต้องการที่แท้จริง การวางแผนงาน/โครงการสามารถทำได้ตรงตามเป้าหมาย หรือสามารถปรับปรุงแก้ไขแผนงาน/โครงการให้เหมาะสมมากขึ้น สามารถทราบผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ เมื่อเริ่มวางแผนใหม่อีกครั้งก็จะมีข้อมูลสารสนเทศที่ชัดเจน เที่ยงตรง และเป็นปัจจุบัน สามารถเป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ความหมายของการติดตาม

........การติดตาม (Monitoring) หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินใจแก้ไขปรับปรุงวิธีการปฏิบัติให้ผลงานเป็นไปตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ข้อมูลจากการติดตามจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเร่งรัดให้งาน/โครงการดำเนินไปตรงตามเป้าหมายของแผนงานและแล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา การติดตามผลจึงต้องดำเนินการไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับให้ตนเอง ผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้รับผิดชอบแผนงาน/โครงการ ทุกระดับ เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไข อำนวยความสะดวก เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ